เด็กที่ "ค้นหาตัวเอง" เจอ สำเร็จกว่าอย่างไร

“สมัยนี้ เรียนอะไรดีเพื่อให้มีงานทำ”
ความจริงก็คือ ไม่ว่าอาชีพไหนก็มีโอกาสตกงาน !
ในยุคศตวรรษที่ 21 ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบปั่นป่วนไปทั้งโลก (Disrupted) ไม่ว่าอาชีพไหนก็มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของเด็กยุคนี้ คือ การ ค้นหาตัวเอง รู้จักคุณค่าตัวเอง และต่อยอดสู่อาชีพจากความถนัดเฉพาะตัว
.
จะเลือกเรียนอะไรดี เพื่อให้มีงานทำ?
จึงเป็นถามที่ตอบไม่ได้ง่ายหรือมีคำตอบตายตัว บางสายงานที่เป็นอาชีพที่เคยไปได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี กลับถดถอยลง บางงานหายไปจากสังคม 100% แบบไม่ทันตั้งตัว ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแทบจะเป็นรายเดือน นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีโรงงานของโลกอย่างประเทศจีนที่พร้อมจะผลิตอะไรก็ได้ราวกับเสก อย่างที่คนทั่วโลกได้เห็นมาแล้ว
.
คำตอบสุดท้ายที่จะตอบได้ก็คือ…
เรียนอะไรมาก็มีสิทธิ์ตกงานทั้งนั้น!!
ดังนั้น ก่อนที่จะเรียนอะไรอย่างที่ว่า ต้องตอบตัวเองก่อนว่า ค้นหาตัวเอง เจอหรือยัง?
.
ถ้าไม่ได้เรียนรู้ 6 เรื่องสำคัญที่ต้องเรียนนี้
เรียนอย่างไรไม่มีวันตกงาน? “การศึกษายุคใหม่” ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน
.
1. เรียนรู้ในการเป็นนักสร้างโอกาส ครีเอทงานให้เป็น ไม่ใช่รองาน
รอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีงานที่สร้างรายได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างเช่น Blogger, YouTuber, Gamer, ขายสติกเกอร์ไลน์ สร้างแอพลิเคชั่นขาย ขายไอเท็มในเกมออนไลน์ Scratch game ปั้นเพจขาย รับทำคอนเทนท์ รับจ้างยิงแอด แอดมินเพจ Programmer ขายของออนไลน์ คอร์สออนไลน์ ทำ E-book ขาย รับส่งของส่งคนอย่าง Grab หรือ Lineman นักรีวิวสินค้า ปล่อยบ้านให้เช่าใน AirBnB รับทำคลิปไวรัล ฯลฯ
.
ถามว่างานเหล่านี้ ต้องเรียนจบอะไรมา บางงานอาจต้องเรียนทางคอมพิวเตอร์มา อย่างเช่น Programmer แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีใบปริญญาก่อนจึงจะทำได้ หากมีความเชี่ยวชาญ ศึกษาเอง หรือเรียนออนไลน์มาก็สามารถรับงานได้ งานใหม่ๆ ในโลกที่เกิดขึ้น เกิน 80% ไม่ได้มีสอนในมหาวิทยาลัยไหนหรือคณะไหนเลย แต่เป็นงานที่มาจากประสบการณ์และการกล้าที่จะสร้างงานใหม่ขึ้นมา
.
เป็นโอกาสของคนที่ช่างสังเกตเห็นช่องโหว่ในธุรกิจ หรืองานบางอย่างที่ยังไม่มีคนทำ แล้วกล้าพอที่จะเสนอทำในสิ่งที่มีคนต้องการ บางงานก็แทบไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญอะไรมาก่อน แต่ทำๆ ไปจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญก็มี ส่วนเรียนจบอะไรมาแทบจะไม่ได้มีความหมายมากเท่ากับผลลัพธ์ที่ทำได้อยู่ในระดับที่ดีจนมีคนบอกต่อ มีรายได้เลี้ยงตัวหรือทำจนเก่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่
.
2. เรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่หยุดพัฒนา
ไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมา เรียนเก่งแค่ไหนก็มีโอกาสตกงาน ถ้าหยุดเรียนรู้ หยุดพัฒนาตัวเอง ใครจะเชื่อว่า ตอนนี้ คุณย่ายายในบ้านเรา ใช้ LINE Facebook IG YouTube TikTok ได้คล่องแคล่วพอๆ กับเด็กๆ ทำไมคนอายุ 70-80 ปี ก็ยัง FACETIME คุยกับลูกหลานได้ทุกวัน แสดงว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จริงตลอดเวลา
.
คนที่คิดว่าเมื่อจบมหาวิทยาลัย ใส่ชุดครุยโยนหมวกขึ้นฟ้าเหมือนในหนัง แสดงความดีใจที่การเรียนจบลงเสียที แล้วหยุดเรียนรู้ คือ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน
.
โปรแกรม Microsoft word เวอร์ชั่นสมัยเรียนปี 1 กับเวอร์ชั่นที่เริ่มทำงานยังไม่เหมือนกันแล้ว ความรู้ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อเริ่มทำงานอะไรที่ไหนก็ตาม หากไม่อยากตกงาน สิ่งสำคัญคือต้องไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง ให้มีทักษะที่มีประโยชน์พร้อมใช้งาน จำเอาไว้ว่าไม่มีใครใช้ Windows 95 ฉันใด ก็ไม่มีใครสนใจความรู้ปริญญาเมื่อ 4 ปีที่แล้วฉันนั้น
.
การเรียนรู้สิ่งใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเรื่องน่าอายอีกต่อไป และการ “ค้นหาตัวเอง” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเรียนรู้และลงมือทำในสิ่งที่สนใจเรื่อยๆ จะ ค้นหาตัวเอง ได้ไวกว่าคนอื่น
.
3. เรียนรู้ที่จะลบทิ้ง Learn, Unlearn and Relearn
ด้วยความรวดเร็วของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทำให้หลายคนปรับตัวไม่ทัน ยังคงเอาความรู้เดิมๆ หรือทักษะเดิมๆ มาแก้ปัญหาใหม่ๆ ซึ่งมันใช้กันไม่ได้ เหมือนรถยนต์ใช้น้ำมัน 95 กับรถยนต์ไฟฟ้า 100% เป็นคนละระบบอย่างสิ้นเชิง บางครั้งการจะรับสิ่งใหม่ก็จำเป็นต้องลบข้อมูลเดิมๆ ทิ้งไปให้หมดเสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถรับความรู้ใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ เข้าไปแทนที่
.
การเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่โดยต้องพยายามลบเอาเรื่องเดิมออกไม่ใช่เรื่องง่าย นึกถึงก่อนที่จะมีสมาร์ทโฟนของ Apple เราคุ้นเคยกับโทรศัพท์ที่มีปุ่มกดมากมาย แต่พอมีสมาร์ทโฟนออกมา แค่ปุ่มเดียวทำให้เรางง พยายามหาปุ่มกดแต่ก็ไม่มี ต้องทำความเข้าใจกับฟังก์ชั่นการใช้งานแบบใหม่ที่ไร้ปุ่มกด จนเกิดความชินในที่สุด ถึงตอนนี้คนยุคใหม่ใช้ iPad ทำงานจนคุ้นเคย บางคนก็ลืมการใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแบบเดิมไปเรียบร้อยแล้วก็มี
.
ในช่วงโรคภัยระบาด โปรแกรมการประชุมออนไลน์ การสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่หลายคนไม่เคยรู้จักมาก่อน บางคนเคยใช้มือถือแค่เพียงการคุยกันสองคน ไม่เคยต้องประชุมออนไลน์หลายคนมาก่อน ก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่ด้วยโปรแกรม ZOOM แต่ถ้ามีโปรแกรมอื่นที่ดีกว่าก็จำเป็นต้องเลิกใช้ มาใช้ตัวอื่น
.
ในอนาคต ต้องทำใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและการทำงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยี การเรียนรู้ และลบทิ้งเพื่อเรียนรู้ใหม่จะเกิดอยู่เสมอ เราจึงต้องเป็น “นักเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้ได้
.
4. เรียนรู้คลื่นใหม่ที่กำลังเข้ามา
คนที่ไม่มีวันตกขบวนคือคนที่หูไว ตาไว มองไปข้างหน้า ศึกษากระแสหรือทิศทางที่จะกำลังเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิต และการงานของเราแน่นอน ได้แก่ AI, เงินดิจิตัล, Big Data, IoT, NFT, Metaverse, โลกไร้พรมแดน เรื่องเหล่านี้ ควรใส่ใจและหมั่นหาความรู้อยู่เสมอ ว่ามีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง มีผู้เล่นหน้าใหม่ ปรากฎการณ์ใหม่อะไรจะเกิดขึ้น
.
การคาดการณ์ถึงอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมเป็นเรื่องจำเป็นมาก เช่น การตั้งคำถามที่ไม่เหลอกตัวเองอยู่เสมอว่า หากวันนี้เราจะไม่ถูก AI เบียดออกจากงาน เพราะอะไรที่เราเหนือกว่า หรือยังจำเป็นต้องมีเราอยู่ ถ้าคำตอบนั้นคือ ไม่มีอะไรดีกว่า หรือไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งของเราก็ได้ แสดงว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับงาน จำเป็นต้องเพิ่มทักษะหรือเปลี่ยนงานไปอยู่ในจุดอื่นไม่
.
หรือถ้าบริษัทใช้ Big Data แล้วพบว่า งานของเราไม่มีความจำเป็นต้องมีก็ได้ เราจะมีอะไรไปค้านหรือไปแสดงให้เห็นได้ว่า องค์กรยังจำเป็นต้องมีเราอยู่ต่อไป หรือต้องจ้างเราทำงานต่อ
.
คำถามคือ เรามีข้อดีอะไร จุดเด่นอะไร ถนัดอะไรจริงๆ ต่างหาก นั่นเป็นสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ และ AI ไม่มีวันแทนที่เราได้
จึงควร ค้นหาตัวเอง ให้เจอ สร้างงานที่เป็นอัตลักษณ์ในแบบของเรา และมีความสุข อยู่เหนือ AI ให้ได้
.
5. เรียนรู้ในการปรับตัวให้เร็ว
มีคำกล่าวว่า สมันนี้ปลาใหญ่กินปลาเล็กไม่มีแล้ว มีแต่ปลาเร็วกินปลาช้า
.
ไม่ใช่แค่ธุรกิจเท่านั้น แต่กับงานด้วย คนที่ปรับตัวได้ก่อน ปรับตัวได้เร็วกว่า ย่อมเอาตัวรอดหรือมีโอกาสชนะได้มากกว่า ในการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วและรุนแรง จะทำให้คนที่ปรับตัวไม่ทันต้องออกจากเกมกลายเป็นผู้แพ้ ตกงาน มีหนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีภัยพิบัติโรคระบาด หลายคนตกงาน ธุรกิจจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทัน จำเป็นต้องปิดตัวลง ในขณะที่หลายธุรกิจ พยายามเอาชนะ ปรับตัวทุกทาง เพื่อจะอยู่รอดให้ได้ ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทดลองทำอะไรใหม่ๆ
.
การเรียนในระบบปกติ ไม่ค่อยมีการสอนให้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะทุกอย่างเป็นระบบที่ทำกันมาแบบส่งต่อวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ทำแบบที่รุ่นพี่เคยทำ ผลก็คือ ทำให้ไม่ถูกฝึกให้ออกนอกกรอบ หรือปรับตัวได้รวดเร็วทันเหตุการณ์เท่าที่ควร
.
6. เรียนรู้ทักษะเรื่องคน
การเรียนรู้ข้อสุดท้าย เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และหลายคนไม่ค่อยได้ตระหนักถึงความสำคัญ เข้าใจผิดว่า ต้องเรียนเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์เป็นอันดับหนึ่ง ความจริงแล้วการเรียนเรื่อง “ภาษาคน” หรือเรียนเรื่องสื่อสารกับคน เข้าใจคนนี่แหละเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะทุกธุรกิจคือ ทำกับคน แม้จะมีหุ่นยนต์เต็มโรงงาน แต่คนที่จะตัดสินใจสั่งงานจริงๆ สุดท้ายก็คือคน อาจจะเป็นเจ้าของ ผู้จัดการโรงงานก็ตาม
.
การทำงานไม่ว่างานใดๆ หรือการใช้ชีวิตก็ตาม ถ้าโลกนี้ยังมีมนุษย์เป็นประชากรของโลก ก็ต้องทำงาน ติดต่อกับคน แม้การสื่อสารอะไรระหว่างกันอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป ไม่ได้ใช้การสื่อสารด้วยการเห็นหน้า พูดเจอกันต่อหน้าเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนการส่งข้อความเป็นตัวหนังสือมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังเป็นการสื่อสารกับคนอยู่ดี
.
คนที่มีทักษะการเรียนรู้เรื่องคนจะได้เปรียบกว่าคนที่รู้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องคน วิศวกรผู้ออกแบบรถยนต์ที่เก่งที่สุด หากรู้แต่เรื่องเครื่องยนต์ก็ไม่สามารถผลิตรถยนต์ที่ถูกใจคนซื้อได้ ทักษะการเข้าใจคนจะทำให้ไม่ว่าทำงานอะไรก็ราบรื่น มีความสนุกและได้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่า เพราะสามารถวางคนให้ถูกกับงานได้ รวมไปถึงรู้ว่าควรสื่อสาร ทำงานกับแต่ละคนอย่างไรจึงจะได้ประสิทธิผลมากที่สุด
.
Genius School Thailand เรามีศาสตร์ที่ชื่อว่า Talent Dynamics แบ่งคนออกเป็น 8 แบบ เพื่อ ค้นหาตัวเอง เข้าใจความแตกต่างของคน วิธีการสื่อสาร การทำงานร่วมกันกับคนแต่ละประเภท รวมถึงเข้าใจวิธีคิด การตัดสินใจ พฤติกรรมของคนรอบๆ ตัวเรา
ศึกษาต่อได้ที่ https://geniusschoolthailand.com/course/talent-dynamics/
.
การเรียนรู้ 6 เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ “การศึกษายุคใหม่” ที่จะทำให้การทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน อยู่ได้อย่างดี และมีความสุข
.
ถ้าตอนนี้เรียนอะไรอยู่ก็ตั้งใจเรียนให้ดี โดยที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดเอาแต่สิ่งที่เรียนมาทำงาน เพราะว่าอาจจะไมได้ใช้ทำงานได้จริง ฝึกฝนเป็นคนที่เรียนรู้ใน 6 ข้อนี้ได้ ไม่ว่า เรียนจบอะไรมา ก็มีทางไปไม่อับจน