ทางออกของปัญหา “คุยกับลูกไม่รู้เรื่อง” แก้ได้ด้วย EF

“ทำไมพูดไม่ฟัง จะต้องให้พูดกี่ครั้ง พูดภาษาคนอยู่ฟังไม่รู้เรื่องหรือยังไง!!”
คุ้นๆ ไหมครับกับประโยคเหล่านี้ การที่ลูกฟังเราไม่รู้เรื่อง อยากรู้จังปัญหานี้อยู่ที่ใคร และจะฝึก EF (Executive Function) อย่างไรจากปัญหานี้
.
ก่อนจะลงไปสู่เรื่องราวนั้นๆ คุณแม่ทุกคนตรงนี้น่าจะรู้จักวิทยุอยู่นะครับ เวลาที่เราจะเปิดวิทยุฟังเพลง หรือฟังดีเจสักคนหนึ่ง เราต้องทำอย่างไรครับ เราก็ต้องจูนคลื่นไป ถ้ายุคเก่าหน่อยก็ใช้คำว่าหมุนคลื่นไปหาคลื่นเพลงนั้นๆ จริงไหม
.
เรามาดูปัญหากันตรงนี้ครับ เราพูดคุยกันไม่รู้เรื่องมันก็เหมือนวิทยุที่อยู่คนละคลื่นกัน คำถามง่ายๆ ตรงนี้ แล้วจะทำอย่างไรล่ะที่จะให้เราอยู่ในคลื่นเดียวกัน ใครกันล่ะที่ต้องปรับ
.
แน่นอนเราเป็นผู้ใหญ่ เด็กก็ต้องตามมาสิ หน้าที่ของเด็กคือต้องปรับตัวเข้าหาผู้ใหญ่ อันนี้จริงไหม ถามตัวเองดีๆว่า ใครอยากเข้าใจใครมากกว่ากัน ระหว่างเรากับเขา เพราะปัญหาที่แท้จริงมันคือ พ่อแม่ไม่เข้าใจลูกนั่นเอง
.
พ่อแม่หลายคนก็จะมาถามว่า แล้วฉันต้องแก้เหรอ แล้วฉันต้องยอมเหรอ ถ้าคุณแม่จะกิน Ego ของตัวเอง จะถือตัวว่าฉันยิ่งใหญ่ไม่แคร์ใคร ก็ตามสบายครับ รอให้ลูกเข้าใจเรา สักวันหนึ่งก็คงจะได้ ก็ขอให้โชคดี แต่ถ้ารู้แล้วว่าตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีวุฒิภาวะมากกว่า ประสบการณ์มากกว่า และเราเปลี่ยนตัวเองได้ง่ายกว่าที่จะไปเปลี่ยนคนอื่น ถ้าคิดได้แบบนี้เรามาไปกันต่อเลยครับ
.
การจะจูนคลื่นเข้าหากันนั้น ก่อนอื่นเราต้องจูนคลื่นเราเข้าไปให้เค้าก่อน ว่าตอนนี้เค้าสนใจอะไร เค้าอยากเล่นอะไร และเค้าต้องการอะไร เริ่มต้นง่ายๆ ด้วย 3 วิธี
.
1. สังเกตการณ์ ดูว่าเข้าชอบอะไร โดยใช้ความรู้สึกที่เป็นกลาง อย่าเพิ่งเอาตัวเองไปใส่ อย่าตัดสินใดๆ ไม่เข้าไปช่วยเหลือถ้าไม่จำเป็น และไม่เข้าไปก้าวก่ายในสิ่งที่เค้ากำลังทำ
.
2. ถามตรงๆ ในสิ่งที่เราสังเกตเห็น ว่าเค้ามีเหตุผล หรือมีแนวคิดอย่างไร กับพฤติกรรมที่เค้ากำลังทำอยู่
.
3. ให้โอกาสในการแสดงความคิด ชักชวนให้เค้าคิดในมุมของเราบ้าง จากสิ่งที่เราคิด เค้าคิดอย่างไร
.
ข้อควรระวังที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ต้องพร้อมเปิดใจรับฟัง และพร้อมที่จะอยู่ในโลกของเขา เหมือนเป็นการฝึก EF (Executive Function) ซึ่งในครั้งแรกๆ อาจจะไม่ค่อยได้ผล แต่เมื่อทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เค้าจะเข้ามาพูดคุยและแบ่งปันโลกของเค้าให้เราฟัง และถึงตรงนี้ เราก็จะสามารถบอกให้เค้าได้รับรู้ว่าโลกของเราเป็นอย่างไร และได้โอกาสในการที่จะพูดจาในคลื่นความถี่เดียวกันแล้วล่ะ
.
นี่เป็นตัวอย่างจากบ้านหนึ่งที่เคยเล่าสู่กันฟัง
ลูกติดเกมในโทรศัพท์อย่างมาก ไม่ว่าจะดุ จะตี จะยึด อย่างไรก็ไม่หาย และการสั่งให้ไปทำอะไรนั้น ก็ไม่เป็นผล ไม่รับผิดชอบตัวเอง กินไม่เป็นเวลา จนคุณแม่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
.
สิ่งที่คุณแม่ท่านนี้ทำหลังจากมาเรียนเรื่องนี้กลับไป ตามขั้นตอน
1. สังเกตลูกว่าอะไรนะที่ทำให้เค้าชอบเล่นเกม ก็เริ่มเห็นว่าเค้ามีเพื่อนในนั้น และเค้าเล่นได้เก่ง เพื่อนๆชื่นชมเค้าเยอะมาก คุณแม่เริ่มเห็นแล้วว่าลูกน่าจะชอบคำชม แล้วเอ๊ะที่บ้านเรานี่มีคำชมบ้างไหมนะ
.
2. ตกเย็นตั้งคำถามกับลูกว่า รู้สึกอย่างไรบ้างกับการที่มีเพื่อนๆชมในเกม ลูกตอบว่ารู้สึกดี เลยยิ่งต้องเล่นให้มากขึ้นจะได้เก่งขึ้นอีก
.
3. ชวนคิด คุณแม่ชวนว่า ถ้านอกจากในเกมมีเรื่องไหนบ้างที่เราน่าจะเก่งขึ้นได้ และจะได้รับคำชมบ้าง คำตอบของลูก ชวนให้แม่ตกใจ “ไม่มีหรอกแม่ ทำอะไรแม่ก็ไม่เคยพอใจ”
ถึงตรงนี้อย่าเพิ่งถอดใจนะ เพราะคุณแม่คนนี้ก็ยังไม่ถอดใจ แต่กลับถามต่อ
.
4. ชวนคิดต่อ แต่ให้เริ่มจากคำว่าขอโทษ เรามาเริ่มกันใหม่ได้ไหม เริ่จากทำอะไรในบ้านก่อนดีที่ลูกคิดว่าจะทำได้ดี
.
และจากนั้นบ้านนี้ก็ค่อยๆ ปรับตัวเองเข้าหากันได้อย่างดียิ่งขึ้น และ EF (Executive Function) ทั้งของลูก และของเราก็ดีขึ้นด้วย หลายครั้งประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เรานั้นไม่เคยรู้สึก และไม่เคยเข้าใจ หากจะคุยกันให้รู้เรื่อง แน่นอนที่สุดมันต้องปรับทั้งคู่ แต่ใครก่อนล่ะ จริงไหม
.
เข้าใจการเทคนิคการสอนลูกด้วย EF (Executive Function)
https://geniusschoolthailand.com/course/ef/
.
บทความโดย
นุกูล ลักขณานุกุล