7 หลักคิดผู้บริหาร เพื่อการพัฒนาโรงเรียน

หัวใจหลักของการแก้ปัญหาด้านการศึกษา คือ “ครู”
เมื่อครูเปลี่ยนวิธีการสอน
เมื่อครูสร้างห้องเรียนแบบใหม่
เมื่อครูไม่ตัดสินเด็กแบบเดิมๆ
เมื่อครูกลับมาส่งเสริมเด็ก
“ถ้าครูเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ เรื่องอื่นๆ จะค่อยๆ ดีงามขึ้นมาเอง”
ทำไมประเทศเราเปลี่ยนการศึกษาไม่ได้
ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีนักคิด นักวิชาการ นักการศึกษาที่ห่วงใยอนาคตของชาติ มองเห็นปัญหาด้านการศึกษาที่อ่อนแอ รวมตัวกันปฏิรูปการศึกษามาแล้ว แต่จนถึงวันนี้ การปฏิรูปการศึกษาไม่ส่งผลให้เด็กของเรามีความรู้มากขึ้นหรือสังคมไม่ดีขึ้นดังที่คาดหวัง
ประเทศเราเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวง และตั้งหน่วยงานทางการศึกษาขึ้นมาใหม่ เรามีหลายอย่างที่เราไม่เคยมี เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานการศึกษา เราเปลี่ยนครูใหญ่ไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีคณะกรรมการสถานศึกษาประจำโรงเรียน เราปรับปรุงหลักสูตร ให้ทุนการศึกษาต่างๆ เปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีค่าตอบแทนเพิ่มให้ครูทั้งประเทศ ตลอดจนมีการเพิ่มงบประมาณให้การศึกษา จนปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี
แต่หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ “การเปลี่ยนแปลงการสอน และการวัดผล” ซึ่งประเทศไทยเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้ว หากจะเปลี่ยนการศึกษาที่แท้จริง ต้องเปลี่ยนที่ “ครู” ต้องพัฒนาครูอาจารย์
เพราะเป็นผู้ที่ทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนรู้ และนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้
การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย จนทุกวันนี้ผู้บริหารโรงเรียนก็ยังมีการจัดอบรม มีการจัดตั้งเครือข่าย และมีโครงการต่างๆ สนับสนุนให้ครูเปลี่ยนการสอนและการวัดผล แต่ที่ผ่านมาการปฏิรูปเป็นแบบผักชีโรยหน้า
ต่างคนต่างทำ เอาแต่แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ปรับนั่นนี่ให้ผ่านไปวันๆ คุณภาพการศึกษาจึงไม่ได้พัฒนา เพราะการเรียนการสอนและการวัดผลยังไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย

โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา สามารถพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ เหมาะสมต่อตนเองและโลกปัจจุบัน ผู้บริหารโรงเรียนจะมีหลักคิดคล้ายๆ กัน ใน 7 หัวข้อต่อไปนี้
1. ผู้บริหารมีเป้าหมายด้านการศึกษาชัดเจนว่าเด็กในศตวรรษที่ 21 ต้องการอะไร
เด็กในยุคนี้ ต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “ทักษะ” ไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำในตำรา
เด็กในยุคนี้ ต้องการความเป็น “ตัวเอง” เรียนในสิ่งที่ถนัด ไม่อยากเรียนเหมือนกัน
เด็กในยุคนี้ ต้อง “สร้าง”อาชีพ มีหัวใจผู้ประกอบการ ไม่ใช่ไปเป็นลูกจ้าง
เด็กที่ “แตกต่าง”กัน วัดไม่ได้ด้วย “ข้อสอบ” ชุดเดียวกัน แต่วัดที่การพัฒนา “ทักษะชีวิต”
การเปลี่ยนเป้าหมาย 360 องศาจากเดิม จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้อง “ชัดเจน” มากๆ
2. ผู้บริหารมีการสื่อสารให้ครู และผู้ปกครองรับรู้เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาของโรงเรียน
เป็นการให้ความรู้แนวทางการศึกษาใหม่ว่าทำไมต้องเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร และผู้เกี่ยวข้องจะช่วยได้อย่างไร โดยต้องเป็นการสื่อสาร แบบนั่งลงคุยกัน เพื่อคุยกันถึงปัญหาและสะท้อนแนวคิดร่วมกัน ไม่ใช่การสั่งการจดหมาย 1 ฉบับ แล้วผู้บริหารรอเอกสารสรุปจากคณะครู เมื่อผู้บริหารลงมาสื่อสารแบบจับเข่าคุยกันอย่างจริงจัง จะทำให้ทุกฝ่าย “พร้อม” ปรับ และ “เข้าใจ” ว่าทำไมโรงเรียนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการ รวมถึงแนวทางการเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน
3. ผู้บริหารให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างจริงจัง ลงมาเล่นด้วย
ผู้บริหาร ต้องไม่อยู่บนหอคอยงาช้าง ต้องลงมาเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างจริงจังไปพร้อมๆ กับครูทั้งโรงเรียน เพื่อเข้าใจ และเข้าถึงสิ่งที่ครูต้องทำ และต้องพัฒนา เช่น
- การปรับระบบนิเวศน์การเรียนรู้ใหม่
- การสอนแบบ Active Learning
- หลักสูตรฐานสมรรถนะ
- การวัดแบบฐานสมรรถนะ
- การลดงานเอกสารทั้งหมด เพื่อคืนเวลาสอนให้ครู
และอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารต้องลงมาเข้าใจให้ถึงแก่น
4. ผู้บริหารมีที่ปรึกษาที่ดี ช่วยในการเปลี่ยน และพัฒนาโรงเรียนอย่างเป็นระบบ
การเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีทีมผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ถ้าแค่คิดจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนเลย เช่น อยากเปลี่ยนหลักสูตร ก็ส่งครู 4-5 คนไปอบรม แล้วกลับมาแบ่งปันให้ครูทั้งโรงเรียนทำตาม เสร็จแล้วก็บอกให้ทุกคนเปลี่ยน ทำแค่นี้ คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากการเสียเวลา เสียทรัพยากรไปฟรีๆ
จะดีกว่าไหม “ถ้าการเปลี่ยนครั้งนี้ คือการเปลี่ยนพลิกโฉมโรงเรียน”
ต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ทุกด้านที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน แค่ส่งครูไปอบรมเป็นครั้งคราว บางคนไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า ผักชีโรยหน้าแน่นอน
การมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงองค์กร มีขั้นตอนที่ชัดเจน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
5. ผู้บริหารมีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
การพัฒนาครู เพื่อการเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มที่ “ระบบความคิด” หรือที่เรียนกันว่า Growth Mindset
การสร้าง Growth Mindset ให้กับครู “ทั้งโรงเรียน” มีหลักสำคัญ อยู่ 3 ข้อ
- เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยทีมอบรมที่มี Growth Mindset
- การสร้างชุมชนในการพัฒนาตนเอง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
- การมีเมนทอร์ (Mentor) ช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนตลอดเส้นทางการพัฒนา
ถ้ามีครบทั้ง 3 ข้อ การพัฒนาครู สู่โรงเรียนยุคใหม่ ก็สามารถเป็นจริงได้ไม่ยาก
6. ผู้บริหารจัดตั้งห้องเรียนพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่สนับสนุนนักเรียนไปในทิศทางเดียวกันกับทางโรงเรียน
พ่อแม่ทุกคนอยากช่วยเหลือสนับสนุนลูกอย่างสุดกำลัง เพียงแต่ พ่อแม่ ยังไม่มีความเข้าใจว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง และบ่อยครั้ง ที่พ่อแม่มี “ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง” หรือ “ความเชื่อในรูปแบบเดิมๆ”
การสร้าง “ห้องเรียนพ่อแม่” ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรูปแบบใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการอธิบายเป็นคำพูดให้พ่อแม่ฟัง แต่ไม่เข้าใจ การสร้างประสบการณ์ตรงให้พ่อแม่ เข้าใจไปถึง “ใจ” และเปิดโอกาสให้ ครู ได้พูดถึง ตอบคำถามความห่วงใยของพ่อแม่เป็นประจำ จะทำให้โรงเรียนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง “แข็งแรง” เร็วขึ้นเป็นอย่างมาก
เพราะ “พ่อแม่” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดในการร่วมพัฒนาโรงเรียน ไม่ต่างไปจาก ครู หรือ ผู้บริหารเลย
7. ผู้บริหารให้ความรู้กับชุมชนโดยรอบ
เชิญปราชญ์ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะเด็กนักเรียน
โรงเรียน คือ ศูนย์กลางของชุมชน
โรงเรียน มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่
โรงเรียน ควรสนับสนุนให้เด็กสำนึกรักในบ้านเกิดของตน
การสื่อสารกับชุมชน การเชิญปราชญ์ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน
จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยการสร้างสำนึกรักบ้านเกิด และสืบสาน ต่อยอด ทรัพยากรในชุมชนของตนให้ยั่งยืน
หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในโรงเรียน คือ “ผู้บริหาร”
เมื่อผู้บริหารที่ดี เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เอาจริง ลงมาเล่นด้วยกับคุณครู จะสามารถจูงใจคุณครูทั้งโรงเรียน และพาโรงเรียนไปสู่การปฏิรูปทั้งด้านการสอนของครู การมีส่วนร่วมจากพ่อแม่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเด็กนักเรียนสู่ทักษะศตวรรษที่ 21 และพัฒนาโรงเรียน พัฒนาทักษะครูให้ทันยุคทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน
Genius School Thailand มีโปรแกรมพัฒนาโรงเรียน พัฒนาทักษะครู สำหรับเจ้าของโรงเรียนเอกชน ที่สนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนครบทั้ง 7 ด้าน ด้วยทีมวิทยากร ทีมพี่เลี้ยง ทีมเมนทอร์ ที่มีประสบการณ์ มีโปรแกรมระยะยาว 6 เดือน – 2 ปี ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และพลิกโฉมโรงเรียนได้จริง
https://geniusschoolthailand.com/school-founder-courses/